
เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า เพลง ก เอ๋ย ก ไก่ มีที่มาทีไปอย่างไร บทความชิ้นนี้มีคำตอบให้คุณ เพลง ก เอ๋ย ก ไก่ เกิดจากอาจารย์เอนก นาวิกมูล กรรมการบ้านพิพิธภัณฑ์ ได้รวบรวมข้อมูลเขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกลอน ก ไก่ ไว้ 2 เล่ม คือ “แกะรอย ก ไก่” พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2536 และ “แบบเรียนในดวงใจ” พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2546
ที่มาของคำกำกับกลอน ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก อาจารย์เอนก นาวิกมูล นักประวัติศาสตร์ และกรรมการบ้านพิพิธภัณฑ์ จึงได้เล่าผ่านเพจ House of Museums ว่าเพลง ก เอ๋ย ก ไก่ ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง แต่พบว่าผู้วาด ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 ปี พ.ศ. 2493 ใช้ลายเซ็นว่า ยล ใต้รูป มีชื่อว่านายยูเก่ง ล่อเฮง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ยล มงคลรัตน์
อาจารย์เอนกยังได้แนะนำว่า เมื่อเทียบแบบเรียนสมัยก่อน มาผนวกกับข้อมูลของอาจารย์เอนก ผู้เขียนพบว่า คำกับกับ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก มี 9 เวอร์ชั่น ดังนี้
1. เพลง ก เอ๋ย ก ไก่ ฉบับชาวจีนเล่นหวย มีพยัญชนะ 36 ตัว
เสฐียรโกเศศ ได้เขียนในหนังสือ “ฟื้นความหลัง เล่ม ๑” ตีพิมพ์ ประมาณปี พ.ศ. 2510 เป็นบันทึกจากความทรงจำของผู้แต่งในยุคนั้น ค้นพบการใช้ชื่อตัวละครจีนมากำกับอักษรก ไก่ บนแผ่นไม้เพื่อความสะดวกในการเล่นหวยของคนซื้อที่เป็นคนไทย ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวในประชุมพงศาวดารภาคที่ 17 ว่าการเล่นหวยในเมืองไทยเกิดเมื่อ พ.ศ. 2378 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ตัวหวยมีแค่ 36 ตัว จึงมีคำกำกับแค่ 36 ตัว ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ก สามหวย / ข ง่วยโป๊ / ฃ เจียมกวย
ค หะตั๋ง / ฅ เม่งจู / ฆ ยิดซัว
ง จีเกา / จ อันสือ / ฉ จีติด
ช ฮกซุน / ซ แชหงวน / ฌ ฮวยกัว
ญ ย่องเซ็ง / ด กวางเหม็ง / ต ปิดติด
ถ พันกุ้ย / ท เซี่ยงเจียว / ธ ไท้เผง
น เทียนสิน / บ แจหลี / ป กังสือ
ผ อิวหลี / ฝ ง่วนกุ้ย / พ กิดปิ้น
ฟ เกากัว / ภ คุนซัว / ม หันหุน
ย ฮ่องชุน / ร กินเง้ก / ล เทียนเหลียง
ว แชหุน / ส ฮะไฮ้ / ห บ้องหลิม
ฬ ง่วนกิด / อ บ้วนกิ่ม / ฮ เจี๊ยสูน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการตั้งโรงเรียนหลวงใน พ.ศ. 2414 แล้ว พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้คิดคำกำกับพยัญชนะเฉพาะที่มีเสียงพ้องกัน เช่น คคิด ค กัณฐา (กัณฐา แปลว่าลำคอ) ให้นักเรียนท่องเพราะเวทนา ที่คนไทยจนคำพูด ต้องเอาชื่อตัวหวยมาใช้เป็นชื่ออักษร แต่คำกำกับ พยัญชนะของพระยาศรีสุนทรโวหารมีไม่ครบ 44 ตัว
2. เพลง ก เอ๋ย ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก จากหนังสือบันไดทอง พ.ศ. 2444 มีพยัญชนะ 28 ตัว
หนังสือบันไดทอง พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 119) ครั้งแรก พิมพ์โดย พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ ในจำนวน 500 เล่ม เพื่อใช้เป็นแบบเรียนเร็วเล่มแรก พบว่ามีตัวอักษรทั้งหมด 28 ตัว ที่เป็นต้นแบบของกลอนท่อง ก ไก่ ในยุคต่อมา แต่แตกต่างเฉพาะ ค ควาย ที่เดิมเรียกว่า ค คน ส่วน ฅ คน ไม่ปรากฏในหนังสือบันไดทองนี้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ก ไก่ กา กุ้ง / ข ไข่ ขัน เข่ง
ค คน คาน คิม / ง งู เงิน งา
จ จาน เจ็ก จอก / ฉ ฉิ่ง ฉาบ ฉาก
ช ช้าง ชี่ ชาม / ซ โซ่ ซอ ซ่อม (ส้อม)
ด เด็ก กระดาษ ดาว / ต เต่า เตียง ตู้
ถ ถุง ถ้วย โถ / ท ทหาร คนโท เทียน
น หนู หนอน น้ำ / บ ใบไม้ บอน เบี้ย
ป ปลา ป้าน แป้ง / ผ ผึ้ง ผม ผ้า
ฝ ฝา ฝน ฝ้าย / พ พาน พระ แพ
ฟ ฟัน ไฟ ฟืน / ม ม้า หมา หมู
ย ยักษ์ ย่าม ยุง / ร เรือ เรือน ร่ม
ล ลิง ลาว เฉลว / ว แหวน ว่าว วัว
ส เสือ เสื่อ เสื้อ / ห หีบ ห่าน หิน
อ อ่าง อิฐ อัฐ / น นกฮูก
3. คำกับกับ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ฉบับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2444
ต่อมาได้ปรากฏ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ครบ 44 ตัวครั้งแรก จากหนังสือแบบเรียนเร็ว เล่ม 1 พ.ศ. 2444 แต่งโดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ที่โรงพิมพ์รัฐบาล ได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง และฉบับพิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2444 นั้น ปรากฏชื่อกำกับตัวอักษรทั้ง 44 ตัว ครบแล้ว ซึ่งแต่งโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนต่างๆ ของรัฐ เพื่อให้เด็กๆได้ท่องจำและเรียนได้เร็ว พบการเปลี่ยนคำเรียก ค คน เป็น ค ควาย และเพิ่มการเรียกกำกับตัวอักษรเพิ่มขึ้นมาหลายคำ เช่น ภ เป็น ภ สำเภาดังตัวอย่างต่อไปนี้
ก ไก่ / ข ไข่ / ฃ ฃวด / ค (ควาย)
ฅ คน / ฆ ระฆัง / ง งู / จ จาน
ฉ ฉิ่ง / ช ช้าง / ซ โซ่ / ฌ เฌอ
ญ ผู้หญิง / ฎ ชะฎา / ฏ ปะฏัก / ฐ ฐาน
ฑ นางมณโฑ / ฒ ผู้เฒ่า / ณ เณร
ด เด็ก / ต เต่า / ถ ถุง / ท ทหาร
ธ ธง / น หนู / บ ใบไม้ / ป ปลา
ผ ผึ้ง / ฝ ฝา / พ พาน / ฟ ฟัน
ภ สำเภา / ม ม้า / ย ยักษ์ / ร เรือ
ล ลิง / ว แหวน / ศ ศาลา / ษ ฤาษี
ส เสือ / ห หีบ / ฬ ฬา / อ อ่าง
ฮ นกฮูก
4. ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก จากหนังสือแบบเรียนมูลศึกษา พ.ศ. 2454
แบบเรียนมูลศึกษา (แบบเรียนเร็วย่อ) จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์สามมิตร์ ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2454) ซึ่งพิมพ์หลังจากแบบเรียนไว 10 ปี พบว่ามีตัวอักษร 44 ตัว แต่การกำกับชื่อเรียกตัวอักษรนั้นไม่ครบทั้งหมด สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากฉบับของกรมพระยาดำรงฯ คือการเรียก ฬ จาก ฬ ลา เป็น ฬ จุฬา ซึ่งไม่ได้ระบุความหมายว่าเป็น “ว่าว” ได้แก่
ก / ข (ไข่) / ฃ (เฃตร) / ค ควาย
ฅ ฅอ / ฆ (ระฆัง,ฆ่า,เฆี่ยน,ฆ้อง,ตะเฆ่,เมฆ)
ง / จ / ฉ / ช (ช้าง) / ซ / ฌ (เฌอ)
ญ (หญิง, หญ้า) / ฎ (ชะฏา), กุฏิ, มงกุฏ
ฏ (ปะฏัก) / ฐ (ฐาน) กะฐิน,อัฐ,อิฐ,เสรฐี
ฑ (นางมณโฑ) พระมณเฑียร
ฒ (ผู้เฒ่า) วันพุฒ / ณ (เณร)
ด (เด็ก) / ต (เต่า) / ถ (ถุง) / ท (ทหาร)
ธ (ธง) พุทธ, เธอ, ธุระ, ธูป, ธรรม, โกรธ, ครุธ
น (หนู) / บ / ป / ผ / ฝ / พ (พาน)
ฟ / ภ (สำเภา) / ม ม้า / ย (ยักษ์)
ร / ล (ลิง) / ว /
ศ (ศาลา,ศุข,เศร้า,ศอก,ศีล,กุศล)
ษ (ฤาษี) โทษา, ทาษ, โทษ /
ส (เสือ) / ห / ฬ (จุฬา) / อ /
ฮ
5. ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก จากหนังสือดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ ในเครืออัสสัมชัญ
ถัดไปมาดูข้อมูลจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ระบุว่าเจษฎาจารย์ ฟ. ฮี แลร์ รองอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้แต่งหนังสือเรียนภาษาไทย “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ” แยกออกจาก “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ต้น” ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2463 ซึ่ง หนังสือ “ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ”
ซึ่งฉบับนี้พบคำเรียกกำกับตัวอักษรที่แตกต่างจากตำราอื่น 8 ตัว คือ ฑ มณฑล, ณ ธรณี, บ บัว, ป เป็ด, ย นกยุง, ห ห่าน, ฬ นาฬิกา และ อ ต้นอ้อ ฉบับที่ผู้เขียนค้นพบตัวอักษรที่มีภาพกำกับคือ ดรุณศึกษา เล่ม 1 พิมพ์เมื่อปี ร.ศ. 129 มีคำกำกับทั้ง 44 อักขระ ได้แก่
ก ไก่ / ข ไข่ / ฃ ฃวด / ค ควาย
ฅ ฅอ / ฆ ระฆัง / ง งู / จ จาน
ฉ ฉิ่ง / ช ช้าง / ซ โซ่ / ฌ เฌอ
ญ ผู้หญิง / ฎ ชะฏา / ฏ ปะฏัก
ฐ ฐาน / ฑ มณฑล / ฒ ผู้เฒ่า
ณ ธรณี / ด เด็ก / ต เต่า / ถ ถุง
ท ทหาร / ธ ธง / น หนู / บ บัว
ป เป็ด / ผ ผึ้ง / ฝ ฝา / พ พาน
ฟ ฟัน / ภ สำเภา / ม ม้า
ย นกยุง / ร เรือ / ล ลิง / ว แหวน
ศ ศาลา / ษ ภาษี / ส เสือ
ห ห่าน / ฬ นาฬิกา / อ อ้อ (ต้นอ้อ)
ฮ นกฮูก
6. กลอนท่อง ก ไก่ จากหนังสือแบบเรียนไว เล่มหนึ่ง ตอนต้น นายย้วน ทันนิเทศ พ.ศ. 2470
จากการค้นคว้าของอาจารย์เอนกพบว่า การท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ฉบับครูย้วน ทันนิเทศ น่าจะเป็น “กลอน ก ไก่” สำนวนแรก เพราะก่อนหน้านั้นมีเพียงคำกำกับอย่างเดียว เช่น ก ไก่ ข ไข่ ยังไม่มีใครแต่งเป็นกลอน จนถึงยุค พ.ศ. 2470 ครูย้วนจึงแต่งกลอน ก ไก่ เป็นคนแรก แต่น่าเสียดายที่คำกำกับของ ฅ คนแต่งเป็น ฅ ฅนโสภา จึงทำให้เกิดความสับสนมาจนถึงปัจจุบัน เพราะ ฅ นั้นเราใช้ ค ควาย มาแต่โบราณ
คำกลอน ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ฉบับครูย้วนได้รับความนิยมท่องจำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 เป็นต้นมา โดยปรากฏอยู่ในหนังสือแบบเรียนไว เล่มหนึ่ง ตอนต้น ซึ่งได้ตีพิมพ์ครั้งแรก 20,000 ฉบับ ที่โรงพิมพ์วัฒนะผล แต่ภายหลังเมื่อพิมพ์ครั้งต่อๆ มาปรากฏว่าถูกตัดคำกลอนออก เหลือแต่ภาพ กับตัวอักษร ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ได้แก่
ก เอ๋ย ก ไก่ / ข ไข่มาหา / ง งูใจหาญ
จ จานจริงจัง / ญ หญิงเอวบาง
เอียงข้าง ฎ ชะฎา / ณ เณรเล็กๆ
ด เด็กขี้เซา / น หนูดูยุ่ง / ม่านมุ้ง บ ใบไม้
ฟ ฟันหน้าเศร้า / ภ สำเภากล้าหาญ
ว แหวนแสนรัก / ไม่ทัก ศ ศาลา
อ อ่างดูถูก / ฮ นกฮูกหน้าผี
7. กลอนท่อง ก ไก่ จากหนังสือแบบเรียน ก.ไก่ บริษัทประชาช่าง พ.ศ. 2490- 2493
ถัดไปเป็นหนังสือแบบเรียน ก ไก่ บริษัทประชาช่าง ที่ได้ตีพิมพ์ครั้งแรก 20,000 ฉบับ พิมพ์ราวต้นปี หรือกลางปี พ.ศ. 2490 (พบเล่มที่เก่าแก่ที่สุดคือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ลงคำนำวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยบริษัท ประชาช่าง จำกัด) ขณะนั้นนายสวัสดิ์ เหตระกูลเป็นผู้พิมพ์โฆษณา ตัวอย่างคำที่คิดมาใหม่ ได้แก่ ช ช้าง ไม่หนี, ซ โซ่ช่วยที, ฒ ผู้เฒ่า ไม่มอง และ ณ เณร เดินย่อง
8. กลอนท่อง ก ไก่ จากหนังสือแบบหัดอ่าน ก ไก่ โรงพิมพ์บริษัทประชาช่าง พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา
หนังสือ ก ไก่ ประชาช่างในปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา เปลี่ยนชื่อผู้จัดพิมพ์ เป็น บริษัทโรงพิมพ์ประชาช่าง จำกัด และปัจจุบันก็ยังมีจำหน่ายอยู่ตามร้านหนังสือทั่วไป ซึ่งจะแบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบหนังสือภาพวาด และหนังสือภาพถ่าย เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นแรก มีปรับเปลี่ยนบางคำ ดังนี้ ช ช้าง วิ่งหนี, ซ โซ่ล่ามที, ฒ ผู้เฒ่า เดินย่อง และ ณ เณร ไม่มอง
ต่างๆ
นอกจากกลอนท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ท้ายหนังสือของประชาช่าง ยังรวบรวมเพลงการละเล่น เอาไว้ให้ผู้อ่านได้ร้องเล่นกับเด็กๆ เช่น รีรีข้าวสาร, ชักสาวเอย, จ้ำจี้มะเขือเปราะ ทำให้เพลงเหล่านี้ไม่สูญหายไปจากการละเล่นของเด็กไทย
9. กลอนท่อง ก ไก่ จากหนังสือแบบหัดอ่าน ก ไก่ จากสำนักพิมพ์โลกหนังสือ พ.ศ. 2554
ผู้เขียนได้ลองสำรวจหนังสือแบบฝึกอ่าน ก ไก่ ที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน เลือกเล่มที่มีคำประกอบเป็นเพลงกลอน พบว่านอกจากฉบับของบริษัทโรงพิมพ์ประชาช่างแล้วยังมีอีกหนึ่งสำนักพิมพ์โลกหนังสือ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้ใช้กลอนที่แตกต่างขึ้นมา แตกต่างจากฉบับประชาช่าง 36 ตัวอักษร เช่น
ก
ข ไข่ ในตะกร้า
ฃ ขวดมากมาย
ค ควายไถนา
ฅ คนแข็งขัน
ฆ
ง เลื้อยช้า
จ สะอาดดี
ฉ
ช ช้างหางยาว
ซ โซ่ล่ามเสา
ฌ เฌอต้นไม้
สรุปได้ว่าเพลงกลอน ก ไก่ ที่นิยมมี 2 เวอร์ชั่น คือ ฉบับครูย้วน ทันนิเทศ ที่นิยมในกลุ่มผู้เกิดช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 7 และเวอร์ชั่นสำนักพิมพ์ประชาช่างที่นิยมมาถึงปัจจุบันและองค์ความรู้ที่พวกเราได้รับส่งต่อมา คือวิธีทำสื่อการสอนสำหรับเด็ก เมื่อใช้เพลง หรือคำคล้องจอง จะช่วยส่งเสริมการจำได้อย่างสัมฤทธิผล
เพลงก เอ๋ย ก ไก่กับพัฒนาการสมองของลูกน้อย
สำหรับเพลง ก เอ๋ย ก ไก่ เป็นเพลงที่ส่งเสริมและช่วยกระตุ้นสมองเด็กได้ดี พร้อมยังช่วยเพิ่มระดับขีดความสามารถ และประสิทธิภาพในการเรียนรู้เพลงเด็กอนุบาล
เพลงเด็ก เพลง ก เอ๋ย ก ไก่ เพลงอนุบาล เด็กๆจะได้พัฒนาสมอง ได้เคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง ทั้งยังได้ออกกำลังกายไปในตัว สร้างเสริมพัฒนาการของเด็ก พร้อมยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถ และประสิทธิภาพในการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และสมาธิให้แก่เด็กๆ รวมทั้งก่อให้เกิดความสุขและผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

แนะนำแอพเพลงที่พ่อแม่เปิดให้ลูกน้อยฟัง

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาให้เลือกใช้มากมาย ในวันนี้ดิฉันก็มีแอพหัดอ่าน ก เอ๋ย ก ไก่ แบบเรียน ก ฮ สำหรับ สำหรับเด็กอนุบาล มาฝากกัน นั่นก็คือแอพ youtube
สามารถกดเข้าไปฟังกันได้ตามลิงค์นี้เลยค่ะ
สำหรับแอพนี้ค่ะ แอพหัดอ่าน ก เอ๋ย ก ไก่ แบบเรียน ก ฮ สำหรับ สำหรับเด็กอนุบาล สามารถใช้ได้ทั้ง android และ ios แอพนี้ใช้งานง่าน สะดวก สามารถอัดเสียงพูดของลูกน้อยคุณได้อีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับ ประวัติความเป็นมาของเพลง ก เอ๋ย ก ไก่ ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมละคะ เส้นทางการเดินทางของเพลง ก เอ๋ย ก ไก่ น่าสนใจมากๆเลยทีเดียว ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว รีบไปโหลดแอพนี้มาพัฒนาเสริมสร้างทักษะของลูกน้อยของคุณกันเลยดีกว่าค่ะ
อ้างอิง